ความรู้ที่นำมาใช้ จึงไม่ใช่การเปิดในตำรา

13 กันยายน 2558

เรียน มูลนิธิคุณแม่น้อย จงสถิตย์วัฒนา

สวัสดีค่ะ ดิฉันนางสาวพิมพ์ใจ สูงไธสง นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่4 มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ หลังจากผ่านการเรียนในชั้นปีที่3 มาอย่างเข้มข้นที่ทั้งภาคปฎิบัติและภาคทฤษฎีด้วยความภาคภูมิใจ ตอนนี้ดิฉันกลายเป็นพี่ปีสูงของคณะแล้วค่ะ หน้าที่และความรับผิดชอบทุกอย่างจึงเพิ่มขึ้นตามอายุไปด้วย

การเรียนในชั้นปีที่4 น่าสนุกและน่าสนใจตรงที่การได้ไปฝึกและเก็บประสบการณ์ ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดค่ะ เพราะได้ไปเห็นวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ความน่ารักและความเป็นกันเองที่แตกต่างจากคนเมือง ทำให้หวนคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนที่บุรีรัมย์ค่ะ

ดิฉันเริ่มต้นการเรียนในชั้นปีที่4 ด้วยวิชาทฤษฎี วิชาการรักษาพยาบาลขั้นต้น เรียนกัน 1 สัปดาห์ เนื้อหาวิชาจะเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ของพยาบาลในการประเมินภาวะสุขภาพ การวินิจฉัยโรค การให้การรักษาพยาบาลขั้นต้นและโรคตามระบบต่างๆ ถัดจากนั้น ในสัปดาห์ถัดมา ก็ถึงเวลานำความรู้จากที่เรียนมาทั้งหมดมาประยุกต์ใช้จริง โดยการฝึกภาคปฎิบัติวิชาปฎิบัติการรักษาพยาบาลขั้นต้น ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องไปเก็บประสบการณ์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดค่ะ ดิฉันฝึกที่โรงพยาบาลบ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยาค่ะ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียงค่ะ มาที่นี่เราจะฝึกปฎิบัติงานที่แผนกผู้ป่วยนอกและห้องฉุกเฉิน เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนค่ะ

เริ่มที่การฝึกที่แผนกผู้ป่วยนอก(OPD) ก่อนเลย อันนี้แอบหินเล็กๆตรงที่เราต้องวินิจฉัยโรคและให้การรักษาพยาบาลขั้นต้นได้ ซึ่งผู้ป่วยจะมาด้วยอาการต่างๆมากมายที่ทำให้ต้องมาโรงพยาบาล ก็ต้องซักประวัติ ตรวจร่างกายและคัดกรองโรคได้ ได้ความรู้เยอะมากเลยค่ะ เพราะได้เห็นอาการของโรคจริงๆ ได้ใช้ความคิดเยอะมากในการแยกโรคและวินิจฉัยโรคด้วยตนเอง พอเราซักประวัติได้อย่างไรหรือวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร คุณหมอก็จะดูให้เราอีกทีว่าถูกหรือไม่ ซึ่งที่นี่หมอใจดีสอนการแยกโรคด้วยอาการหรือผลการตรวจร่างกายต่างๆ ทำให้ได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น ค่อยเก็บเป็นประสบการณ์สะสมไปเรื่อยๆค่ะ

ต่อมาแผนกฉุกเฉิน (ER) การฝึกส่วนใหญ่จะเน้นที่การทำหัตถการ ซึ่งได้ฝึกเยอะมาก เพราะพี่พยาบาลใจดีสอนให้ทุกอย่างเลย เช่น การเย็บแผล การจี้ไฟฟ้า การฉีดยา การทำแผล การพ่นยา เป็นต้น ทำงานที่แผนกนี้จะต้องทำอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ป่วยบางคนมาด้วยอาการหนักที่ต้องให้การรักษาอย่างเร่งด่วนฉุกเฉิน ดังนั้นความรู้ที่นำมาใช้จึงไม่ใช่การเปิดในตำรา แต่ความรู้ก่อนขึ้นฝึกปฎิบัติต้องแม่นยำ และถูกบันทึกเป็นความจำในสมองแล้ว ต้องเป็นความรู้ที่นำมาใช้ได้เลยเพราะฉุกเฉินจริงๆ การเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ทุกวัน ทำให้ตื่นเต้นและกระตือรือร้นมากยิ่งขี้น ในแต่ละวันที่ขึ้นฝึกจึงสนุกและไม่เบื่อเลย

นอกเหนือจากการฝึกปฎิบัติแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงเห็นจะไม่ได้ คือความมีน้ำใจและความน่ารักของคนอยุธยาค่ะ ตั้งแต่วันแรกที่มากับเพื่อนอีก 3 คน พี่ๆที่โรงพยาบาลให้รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และยินดีต้อนรับ ขั้นฝึกทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ พี่ก็จะใจดีสอนให้เสมอ การทำงานด้วยรอยยิ้มในทุกวันจึงทำให้มีความสุขมากเลยค่ะ ผู้ป่วยทุกคนที่มารับการรักษาแม้จะรู้ว่าเป็นนักศึกษา ก็เต็มใจให้ดูแลและช่วยเหลือ ซึ่งผู้ป่วยเป็นกำลังใจที่สำคัญที่สุดของการเป็นนักศึกษาพยาบาลเลยค่ะ เพราะเมื่อผู้ป่วยมอบรอยยิ้มและคำขอบคุณมาให้ ทำให้ยิ้มตามและรู้สึกภูมิใจในตัวเองที่สามารถให้การดูแล และรักษาผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยทุกคนยังคงเป็นครูที่ดิฉันรู้สึกเคารพและขอบคุณเสมอค่ะ

การออกมาฝึกที่โรงพยาบาลชุมชนในครั้งนี้ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ดิฉันรู้สึกขอบคุณและจะเก็บไว้ในความทรงจำตลอดไป

หลังจากฝึกปฎิบัติที่โรงพยาบาลชุมชนแล้ว วิชาฝึกปฎิบัติต่อไปที่ ณ วันนี้ดิฉันกำลังจะไปฝึกต่อคือวิชาจิตเวชค่ะ

ด้วยความเคารพอย่างสูง
นางสาวพิมพ์ใจ สูงไธสง
นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล